ประวัติ CNC

ประวัติของเครื่องจักรกลซีเอ็นซี
CNC เป็นคำย่อมาจากคำว่า Computer Numerical Control หมายถึงการใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยควบคุมการทำงานเครื่องจักรกลอัตโนมัติต่างๆ เช่น เครื่องกัด เครื่องกลึง เครื่องเจาะ เครื่องเจียระไน ฯลฯ โดยการสร้างรหัส ตัวเลข สัญลักษณ์ หรือเรียกว่าโปรแกรม NC ขึ้นมาควบคุมการทำงานของเครื่องจักรกล ซึ่งสามารถทำให้ผลิตชิ้นงานได้รวดเร็วถูกต้อง และเที่ยงตรง


นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1960 เป็นต้นมา เทคโนโลยีทางด้านไมโครโปรเซสเซอร์เข้ามามีบทบาทแทนที่หลอดสุญญากาศ และทรานซิสเตอร์ก็มีการพัฒนาจากเครื่องจักร NC มาเป็นเครื่องจักร CNC (Computer Numerically Controlled) และเครื่องจักร CNC ก็กลายเป็นพระเอกที่โดดเด่นเรื่อยมา เนื่องจากมีหน่วยความจำขนาดใหญ่สามารถบรรจุโปรแกรมการทำงานต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีจอภาพแสดงผลแบบกราฟิกแสดงผลหรือจำลองการทำงานได้อีกด้วย


ในการโปรแกรมข้อมูลเข้าไปยังตัวควบคุมเครื่องจักร (Machine Control) ซึ่งเรียกการควบคุมแบบนี้ว่าระบบ softwired โดยมีการเปลี่ยนอุปกรณ์ แบบเก่าเป็นอุปกรณ์ที่สามารถจัดเก็บโปรแกรมได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็เป็นยุคต้นของเครื่องจักรกล CNC


เครื่อง CNC จะใช้เทปแม่เหล็ก, แผ่นดิสก์ หรือ ดรัม (Drum) ในการเก็บข้อมูลที่โปรแกรมเอาไว้การโปรแกรมสามารถทำได้ที่สถานีควบคุมไปยังกลุ่มเครื่องจักรกล NC แต่ถ้าเป็นกลุ่มหรือเครื่องจักรกล CNC การโปรแกรมหรือรับสัญญาณมักจะรับจาก เครื่องจักรเองโดยตรงหรือเก็บไว้ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ประจำเครื่อง DNC เป็นแนวความคิดใหม่ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์หนึ่งตัว (Main Computer or Host) เป็นศูนย์กลางในการควบคุม และบริหารเครื่องจักรกล NC และ CNC หลายๆ เครื่องCNC จะใช้เทปแม่เหล็ก, แผ่นดิสก์ หรือ ดรัม (Drum) ในการเก็บข้อมูลที่โปรแกรมเอาไว้การโปรแกรมสามารถทำได้ที่ สถานีควบคุมไปยังกลุ่มเครื่องจักรกล NC แต่ถ้าเป็นกลุ่มหรือเครื่องจักรกล CNC การโปรแกรมหรือรับสัญญาณมักจะรับจาก เครื่องจักรเองโดยตรงหรือเก็บไว้ในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์ประจำเครื่อง


ในการควบคุมเครื่องจักรกลซีเอ็นซี จะใช้โปรแกรมรหัสจีเป็นชุดคำสั่ง เพื่อควบคุมขับเครื่องมือตัดเฉือน (Tool) จากตำแหน่งหนึ่งไปยังอีกตำแหน่งหนึ่ง หรือเปิด-ปิดสารหล่อเย็นหรือเปลี่ยนเครื่องมือตัดเฉือน โดยเครื่องจักรกลจะทำงานโดยอัตโนมัติตามที่ได้โปรแกรมไว้ตามชุดคำสั่ง เราไม่สามารถแยกเครื่องจักรซีเอ็นซีและรหัสจีออกจากกันได้ ถ้าเราต้องการให้เครื่องจักรซีเอ็นซีทำงานเราต้องเรียนรู้รหัสจีเพื่อที่เราจะได้พูดภาษาเดียวกับตัวควบคุมซีเอ็นซีได้ ภายหลังจึงได้มีการพัฒนาโปรแกรม CAD/CAM ขึ้นมาใช้งานร่วมกับเครื่องจักรกล CNC ช่วยให้เข้าใจถึงวิธีการโปรแกรมรหัสจี เพื่อให้เครื่องจักรซีเอ็นซีทำงานตามที่ผู้ใช้งานต้องการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น




หลักการควบคุมการทำงานของเครื่องจักร

การตัดเฉือนชิ้นงานด้วยเครื่องจักรทั่วๆ ไปนั้น ช่างควบคุมเครื่องจะใช้มือหมุนเพื่อเลื่อนคมตัดหรือชิ้นงานให้เคลื่อนที่ไป ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการทำงานแล้วจะได้ชิ้นงานที่มีรูปร่างและขนาดตามต้องการ ลักษณะเช่นนี้ช่างควบคุมเครื่องจะต้องคอยเฝ้าดูตำแหน่งของคมตัดที่ต้องมีความสัมพันธ์กับเส้นรอบรูปบนชิ้นงานที่กำลังตัดเฉือนอยู่ตลอดเวลา และในการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของคมตัด ช่างจะต้องหมุนมือหมุนเพื่อควบคุมการทำงานของแท่นเลื่อน ช่างจะต้องคอยสังเกตุและตรวจสอบตำแหน่งของคมตัดกับชิ้นงาน เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้วช่างจะหยุดหมุนมือหมุน คมตัดก็จะหยุดการเคลื่อนที่ ในทางเทคนิคการทำงานเหล่านี้จะถูกเรียกว่าการควบคุม (Control)
นอกเหนือจากการควบคุมตำแหน่งของชิ้นงานกับเครื่องมือตัดแล้ว ช่างจะต้องควบคุมอัตราการป้อนซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุชิ้นงาน, วัสดุเครื่องมือตัด และตำแหน่งของคมตัดด้วย ซึ่งในบางครั้งช่างจะต้องลดอัตราการป้อนลงเมื่อใกล้จะถึงตำแหน่งที่ต้องการเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ถูกต้อง นอกจากนี้จะต้องคอยปรับความเร็วรอบและตำแหน่งของการหล่อเย็นให้ถูกต้องอีก เป็นต้น





หลักการทำงานเครื่องจักรซีเอ็นซีจะคล้ายคลึงกับเครื่องจักรทั่วไป กล่าวคือโดยพื้นฐานแล้วเครื่องจักรซีเอ็นซีก็จะทำหน้าที่ผลิตชิ้นงานเหมือนเครื่องจักรกลทั่วไป แต่ระบบควบคุมซีเอ็นซีของเครื่องจะทำงานในขั้นตอนต่างๆ แทนช่างควบคุมเครื่อง แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่เครื่องจักรจะทำงานได้นั้น ระบบควบคุมของเครื่องจะต้องได้รับข้อมูลเสียก่อนว่าจะให้ทำงานตามขั้นตอนอย่างไร และจะต้องบอกเป็นภาษาที่ระบบควบคุมสามารถเข้าใจนั่นคือจะต้องป้อนโปรแกรมเข้าไปในระบบควบคุมของเครื่องโดยผ่านแป้นพิมพ์ (Keyboard) หรือเทปแม่เหล็ก (Magnetic tape) ก็ได้


เมื่อระบบควบคุมอ่านโปรแกรมที่ป้อนเข้าไปแล้ว ระบบควบคุมจะนำไปควบคุมให้เครื่องจักรทำงาน โดยการเคลื่อนที่ของแท่นเลื่อนจะมีมอเตอร์ป้อน (Feed motor) เป็นตัวทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของแท่นเลื่อน
หลังจากที่ระบบควบคุมอ่านโปรแกรมที่ป้อนเข้าไปแล้ว ระบบควบคุมจะเปลี่ยนรหัสโปรแกรมให้เป็นสัญญาณทางไฟฟ้าเพื่อควบคุมให้มอเตอร์ทำงาน
ระบบควบคุมซีเอ็นซีจะมีอุปกรณ์, เครื่องมือที่สามารถบอกตำแหน่งของแท่นเลื่อนให้ระบบควบคุมรู้ได้ อุปกรณ์ชุดนี้เรียกว่า ระบบวัดขนาด (Measuring System) ซึ่งประกอบด้วยสเกลแนวตรง (Linear Scale) มีจำนวนเท่ากับจำนวนแนวแกนในการเคลื่อนที่ของเครื่องจักร มีหน้าที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าที่สัมพันธ์กับระยะทางที่แท่นเลื่อนเคลื่อนที่กลับไปยังระบบควบคุม ทำให้ระบบควบคุมรู้ว่าแท่นเลื่อนเคลื่อนที่เป็นระยะทางเท่าใด
ช่างควบคุมเครื่องไม่เพียงสามารถใช้โปรแกรมซีเอ็นซีสั่งให้เครื่องจักรทำงานแต่ยังสามารถเขียนและป้อนโปรแกรมด้วยตนเอง ตลอดจนการแก้ไขโปรแกรมได้หลังจากป้อนเข้าไปในระบบควบคุมของเครื่องแล้ว ขนาดต่างๆ ของเครื่องมือตัดและอุปกรณ์จับยึดชิ้นงาน สามารถที่จะเลือกใช้และป้อนเข้าไปในระบบควบคุมได้ในขณะทำการปรับตั้ง และเป็นอิสระจากโปรแกรมซีเอ็นซีขนาดต่างๆ ของเครื่องมือจะถูกนำไปใช้โดยอัตโนมัติขณะทำงานการตัดเฉือน ช่างควบคุมเครื่องจักรจึงไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลในการปรับตั้งเครื่องมือมาก และสามารถที่จะเลือกใช้เครื่องมือและอุปกรณ์จับยึดชิ้นงานได้ด้วยตนเอง
ระบบควบคุมของเครื่องจักรซีเอ็นซี จะเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมให้เครื่องจักรทำงานตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ การที่เครื่องจักรจะทำงานได้นั้นระบบควบคุมจะต้องได้รับการบอกล่าวถึงวิธีการทำงานเสียก่อน ข้อมูลที่ใช้จะอยู่ในรูปของโปรแกรมเอ็นซี ซึ่งช่างควบคุมเครื่อง หรือช่างเขียนโปรแกรมจะเป็นผู้เขียนโปรแกรมเข้าในไประบบควบคุมระบบควบคุมจะอ่านโปรแกรมเอ็นซีและเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นสัญญาณควบคุมสำหรับเครื่องจักรการสร้างโปรแกรมเอ็นซีจะมีรูปแบบที่ถูกกำหนดโดยบริษัทผู้ผลิตระบบควบคุมภายใต้แนวทางที่เป็นมาตรฐาน
การสร้างโปรแกรมเอ็นซี
ในโปรแกรมเอ็นซีขั้นตอนการตัดเลือกสำหรับผลิตชิ้นงานด้วยเครื่องจักรซีเอ็นซีจะถูกเขียนขึ้นในรูปแบบที่ระบบควบคุมสามารถเข้าใจได้ ช่างที่เขียนโปรแกรมจะต้องทราบถึงขั้นตอนการตัดเฉือนทั้งหมดซึ่งในขั้นตอนต่าง ๆ จะถูกกำหนดไว้อย่างถูกต้องพร้อมด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น อัตราป้อน ความเร็วรอบของเพลางาน เป็นต้น ช่างจะนำข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ไปเขียนเป็นโปรแกรมเอ็นซี หลังจากที่โปรแกรมป้อนเข้าไปในระบบควบคุมแล้วสามารถนำโปรแกรมนั้นมาทำงานซ้ำได้หลายครั้งตามที่ต้องการ
ถ้าขั้นตอนบางขั้นตอนจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไป และแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในโปรแกรมเอ็นซี จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงบางจุดให้เหมาะสม การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ สามารถที่จะทำได้โดยช่างควบคุมเครื่องโดยตรง


การโปรแกรม NC โดยมนุษย์
เมื่อผู้เขียนโปรแกรมรู้แบบของชิ้นงานและข้อมูลของเครื่องจักรแล้ว ในขั้นแรกก็ต้องจัดลำดับขั้นตอนในการทำงานก่อน ขั้นต่อมาคือการจัดเตรียมข้อมูลโดยเลือกลำดับของเครื่องมือตามขั้นตอนการทำงาน ผู้เขียนโปรแกรมจะต้องกำหนดความเร็วตัด และความเร็วป้อน ค่าเหล่านี้อาจได้จากการเปิดตารางหรือจากการคำนวณ นอกจากนั้นยังต้องคำนึงถึงการเปิด-ปิดน้ำหล่อเย็น แกละการชดเชยขนาดของเครื่องมือ หลังจากทราบข้อมูลทั้งหมดแล้วจึงเริ่มเขียนโปรแกรม สิ่งสำคัญที่ควรคำนึง คือ ผู้เขียนโปรแกรมต้องกำหนดวางศูนย์ของชิ้นงานในตำแหน่งที่เหมาะสม



การเขียนโปรแกรมเอ็นซี (NC) ด้วยการใช้โปรแกรมช่วยผลิตชิ้นงาน
ภาษาที่ใช้ในการสร้างโปรแกรมเอ็นซีนั้นทำหน้าที่ให้ข้อมูลของชิ้นงาน และการเคลื่อนที่ระหว่างเครื่องมือและชิ้นงาน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถใช้สร้างชิ้นงานตามแบบที่ต้องการได้ ลักษณะการใช้งานของภาษาที่ใช้ในการสร้างโปรแกรมเอ็นซี แบ่งเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
1. ตามลักษณะของเครื่อง
2. ตามลักษณะของปัญหา ลักษณะภาษาที่ใช้ตามลักษณะปัญหานี้ ในระยะแรกที่เริ่มพัฒนา คือ ภาษา APT เป็นการคำนวณข้อมูลทางเรขาคณิตเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลทางเทคนิค แต่ในปัจจุบันมีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิตออกมากมาย ซึ่งสามารถทำได้ทั้งระบบ 2 มิติ, 2 1/2 มิติ และ 3มิติ


ในการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิตเพื่อสร้างโปรแกรมเอ็นซีนั้น ควรคำนึงถึงค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์ที่จะเลือกใช้ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็ก มีการผลิตชิ้นงานจำนวนไม่มาก เพราะจะส่งผลกระทบถึงราคาต้นทุนในการผลิตสินค้า ซึ่งผู้ผลิตจำเป็นต้องเลือกวิธีการสร้างโปรแกรมให้เหมาะสม กล่าวคือ ถ้าลักษณะของชิ้นงานไม่มีความสลับซับซ้อน เป็นรูปทรงง่าย ๆ ก็ไม่สมควรที่จะใช้คอมพิวเตอร์ที่มีระบบการจัดการที่มีขนาดใหญ่มาช่วยในการสร้างโปรแกรม เพราะราคาและค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์ดังกล่าวในปัจจุบันยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง


ลักษณะการสร้างโปรแกรมเอ็นซี
การสร้างโปรแกรมเอ็นซีสำหรับสั่งงานเครื่องจักรที่ใช้การควบคุมด้วยระบบเชิงตัวเลข สามารถสรุปได้ตามลักษณะของการสร้างโปรแกรมได้ดังนี้
1. การสร้างโปรแกรมโดยตรง โดยการป้อนข้อมูลที่เป็นรหัสที่เครื่องจักรสามารถเข้าใจได้ที่แป้นพิมพ์ของชุดควบคุมของเครื่องจักร รวมทั้งข้อมูลของเครื่องมือตัดที่ใช้ในขบวนการผลิตชิ้นงานด้วย
2. การสร้างโปรแกรมโดยทางอ้อมด้วยซอฟแวร์ประเภท CNC-Editor ที่ทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรมที่ได้ส่งไปยังชุดควบคุมของเครื่องจักรโดยการใช้เทปกระดาษเจาะรู (Punched tape) เทปแม่เหล็ก (Magnatic tape) แผ่นดิสเก็ตต์(diskettes) หรือโดยการใช้สายส่งที่สามารถส่งข้อมูลจากคอมพิวเตอร์เข้าชุดควบคุมของเครื่องจักรโดยตรง
3.การสร้างโปรแกรมทางอ้อมโดยใช้ CAM ซอฟแวร์ มีลักษณะคล้ายการเขียนโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ ในแต่ละภาษาจะมีความสามารถในการสร้างโปรแกรมสำหรับสั่งงานเครื่องจักรที่ควบคุมด้วยระบบเชิงตัวเลขต่างกันออกไป การสร้างโปรแกรมเอ็นซีจะเริ่มโดยการเขียนคำสั่งการทำงานในลักษณะของ Text File ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ภาษาต่าง ๆ นั้นจะสามารถทำงานได้ หลังจากนั้นจะทำการแปล Text File ที่เขียนไว้เป็นคำสั่งภาษาซีเอ็นซี ในบางภาษาหลังจากทำการแปลเป็นคำสั่งภาษาซีเอ็นซีแล้วจะสามารถจำลองการทำงานทางจอภาพได้ และสามารถส่งโปรแกรมเอ็นซีไปยังชุดควบุคมของเครื่องจักรได้
4. การสร้างโปรแกรมทางอ้อมโดยใช้แคมซอฟแวร์ (Stand alone CAM Software) บนเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความสามารถและขนาดของโปรแกรมที่เลือกใช้ การสร้างโปรแกรมจะเริ่มโดยการสร้างรูปทางเดินของคมตัดเสียก่อนหรือด้วยการกำหนดตำแหน่งต่าง ๆ ที่ต้องการ จากนั้นจะทำการแปลข้อมูลเชิงเส้นไปเป็นโปรแกรมเอ็นซีหรือทำเป็นกระดาษเจาะรู เพื่อใช้ในการส่งถ่ายข้อมูลไปยังชุดควบคุม
5.การสร้างโปรแกรมทางอ้อมด้วยซอฟแวร์ CAD/CAM เป็นระบบการสร้างโปรแกรมสำหรับชิ้นงานที่มีรูปร่างซับซ้อน ซึ่งความสามารถในการสร้างรูปทรงของชิ้นงานและสามารถกำหนดขนาดในระบบ CAD และส่งข้อมูลของรูปทรงชิ้นงานไปยังระบบ CAM เพื่อแปลข้อมูลรูปทรงชิ้นงานเป็นโปรแกรมเอ็นซี ซึ่งระบบ CAD/CAM สามารถแยกจากกันเป็นอิสระในการทำงาน ซึ่งซอฟแวร์ระบบ CAD หรือระบบ CAM ที่มาจากผู้พัฒนาโปรแกรมบริษัทเดียวกันหรือต่างบริษัทกันก็จะสามารถรับส่งข้อมูลซึ่งกันและกันได้ เพราะมีการกำหนดเป็นมาตราฐานเดียวกัน หรือซอฟแวร์ CAD/CAM อาจจะอยู่รวมเป็นระบบซอฟแวร์รวม
องค์ประกอบของระบบควบคุม
ระบบซีเอ็นซีจะประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ มากมาย ถ้าพิจาณาถึงสิ่งที่ต้องการให้ระบบสามารถทำได้ จะสามารถแสดงให้เห็นองค์ประกอบของระบบซีเอ็นซีด้วยไดอะแกรมดังนี้
หัวใจของระบบซีเอ็นซีก็คือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งทำหน้าที่ในการคำนวณทั้งหมดและเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นเหตุและผล จึงจำเ ป็นต้องมีอินเตอร์เฟส (Interface) อยู่ 2 ชุดด้วยกัน


- อินเตอร์เฟสสำหรับช่างควบคุมเครื่อง ซึ่งจะประกอบด้วยแผงควบคุม (Control Panel) และข้อต่อ (Connections) ต่าง ๆ สำหรับ เครื่องอ่านกระดาษ (Punched Tape Reader) เครื่องเจาะเทปกระดาษ (Punched Tape Perforator) หน่วยเทปแม่เหล็ก (Magnatic Tape Unit) หน่วยดิสเก็ต (Diskette Unit) และเครื่องพิมพ์ (Printer)
- ชุดอินเตอร์เฟสสำหรับเครื่องจักรกล องค์ประกอบหลักของชุดอินเตอร์เฟสนี้จะประกอบด้วย อินเตอร์เฟสการควบคุม (Axis Control) และหน่วยจ่ายกำลัง (Power Supply)


ระบบการรับและส่งข้อมูลและการจัดเก็บโปรแกรมเอ็นซี
ข้อมูลโดยทั่วไปที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ในระบบซีเอ็นซี จะเป็นรหัสไบนารี่ (Binary Coded) ซึ่งหมายความว่าตัวอักษรและตัวเลขทุกตัวที่ป้อนผ่านแป้นพิมพ์จะถูกเปลี่ยนโดยคอมพิวเตอร์ให้เป็นบิท (Bit) ที่มีความหมายเฉพาะ
บิท (Bit)คือตำแหน่งของสวิทซ์อิเล็คทรอนิค ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งตำแหน่งปิด (OFF) หรือตำแหน่งเปิด (ON) ก็ได้ และในระบบไบนารี่ (Binary System) จะใช้เป็น 0 (OFF) 1 (ON) คอมพิวเตอร์จะเก็บบันทึกตำแหน่งสวิทซ์เหล่านี้ไว้เป็นจำนวนมาก และเชื่อมต่อระหว่างกันและกัน
โดยทั่วไป 8 บิทจะรวมกันเท่ากับ 1 ไบท์ (Byte) ซึ่งใน 1 ไบท์นี้จะสามารถผสมกันเพื่อใช้แทนตัวเลขและตัวอักษรรวมกันได้ถึง 256 ตัว และในระบบนี้จะเรียกว่า "การให้รหัสไบนารี่" (Binary Coding)
การรับโปรแกรมเอ็นซีเข้าไปในชุดควบคุมของเครื่องจักรเต็มหน่วยความจำของชุดควบคุมแล้วจะต้องลบข้อมูลของโปรแกรมนั้นออก มิฉะนั้นจะไม่สามารถป้อนข้อมูลโปรแกรมเอ็นซีใหม่เข้าไปได้ หรือหน่วยความจำของชุดควบคุมที่สามารถเก็บบันทึกโปรแกรมได้เพียงโปรแกรมเดียว เมื่อต้องการใช้โปรแกรมทำงานใหม่ก็จะต้องลบโปรแกรมที่มีความยาวมาก ๆ ดังนั้นจึงมีอุปกรณ์เก็บข้อมูลและส่งถ่ายข้อมูล ซึ่งสามารถเก็บและส่งโปรแกรมเอ็นซีเข้าชุดควบคุมของเครื่องจักรได้ อุปกรณ์เหล่านี้มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ เช่น เทปกระดาษ (Punched Tape ) เทปแม่เหล็ก (Magntic Tape Cassettes) แผ่นดิสก์เก็ต (Diskettes) เป็นต้น(ซึ่งปัจจุบันสามารถต่อสายรับข้อมูลโดยตรงจากคอมพิวเตอร์ได้ ทางพอร์ต อนุกรม,serial port) ซึ่งโปรแกรมเอ็นซีที่เก็บบันทึกข้อมูลไว้ในอุปกรณ์เหล่านี้ สามารถที่จะพิมพ์ออกมาเพื่อตรวจสอบหรือแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมได้
การจัดเก็บข้อมูลในชุดควบคุมเครื่องจักร
การจัดเก็บโปรแกรมเอ็นซี จากหน่วยความจำของ ชุดควบคุมสามารถกระทำหลายวิธี
1. ในเครื่องจักรกลเอ็นซีที่มีระบบไฟหล่อเลี้ยงจากแบตเตอร์รี่จ่ายให้แก่หน่วยความจำ (accumulator) โปรแกรมเอ็นซีที่ป้อนเข้าไปจะอยู่ในหน่วยความจำ ของชุดควบคุมของเครื่องจักรกล จะสามารถเก็บให้คงอยู่ในหน่วยความจำของเครื่องได้แม้ว่าเครื่องจักรกลจะปิดอยู่ไม่ได้ใช้งาน
2. ในกรณีที่มีโปรแกรมเอ็นซีอยู่ในหน่วยความจำของเครื่องจักรแต่เมื่อตัดไฟไม่ ให้เครื่องจักรทำงานแล้วโปรแกรมที่อยู่ในหน่วยความจำจะถูกลบออกไปหมดในกรณีเช่นนี้สามารถทำการจัดเก็บโปรแกรมเพื่อการนำมาใช้งานได้อีกโดยการบันทึกข้อมูลของโปรแกรมเอ็นซีด้วยการใช้การส่งถ่ายโปรแกรมทางสายส่งมาเพื่อทำการเจาะแถบเทปกระดาษด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ไม่ได้เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรเอ็นซี
การรับข้อมูลจากหน่วยบันทึกข้อมูลภายนอกเครื่องจักร
การส่งโปรแกรมเอ็นซีจากหน่วยบันทึกข้อมูลภายนอกไปยังชุดควบคุมของ เครื่องซีเอ็นซี สามารถกระทำได้ดังนี้
1. การส่งโปรแกรมเอ็นซีให้ชุดควบคุมของเครื่องจักร โดยอาศัยอุปกรณ์อ่าน และแปลสัญญาณโปรแกรมจากเทปกระดาษ การส่งโปรแกรมจะทำโดยใช้สายส่งเป็นตัวผ่านโปรแกรมไปยังชุดควบคุมแล้วเขียนลงในหน่วยความจำของชุดควบคุม
2. การให้ชุดควบคุมของเครื่องจักรกลอ่านโปรแกรมจากหน่วยบันทึกข้อมูลของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อผ่านสายส่งที่อยู่กับชุดควบคุม โดยอ่านข้อมูลจากแผ่นดิสส์เก็ต เพื่อทำการรับโปรแกรมเอ็นซีที่ส่งมาเพื่อทำการเขียนลงในหน่วยความจำของชุดควบคุม
3. ในกรณีที่โปรแกรมเอ็นซีมีขนาดใหญ่กว่าหน่วยความจำ ของชุดควบคุมของเครื่องจักร การรับโปรแกรมจะต้องใช้วิธีการส่งในระบบ on -line กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ต่อกับหน่วยความจำของเครื่องจักรโดยตรง ที่เรียกว่า DNC
จากที่กล่าวมาแล้ว เป็นเพียงหลักการเบื้องต้นของ เครื่องจักร CNC เท่านั้น คราวต่อไปจะได้กล่าว ถึงเทคโนโลยีของเครื่องจักร CNC ที่สูงขึ้นไปจนถึงระดับ Highspeed Machinig Center


หนังสืออ้างอิง
การใช้โปรแกรม AutoCAD ในงาน CNC ,ศุภงค์ เจริญศรี และ สุชิต เรืองศรี